พิธีการลูกเสือวิสามัญ - พิธีการสำรวจตัวเองของผู้ที่เข้าเป็นลูกเสือวิสามัญ (Vigil)
พิธีการสำรวจตัวเองของผู้ที่เข้าเป็นลูกเสือวิสามัญ หมายถึง การเตรียมลูกเสือวิสามัญที่ได้รับการฝึกอบรมเครื่องหมายลูกเสือโลกครบตามหลักสูตรแล้ว ให้ผู้กำกับลูกเสือวิสามัญในกองนั้น ๆ ดำเนินการจัดให้เตรียมลูกเสือวิสามัญเหล่านั้นเข้าพิธีการสำรวจตัวเองของผู้ที่เข้าเป็นลูกเสือวิสามัญ
ความเป็นมา
ลอร์ด เบนเดน-โพเอลส์ ได้นำหลักการและวิธีการของพิธีสาบานตัวเป็นอัศวิน ของประเทศอังกฤษ มาเป็นแนวทางในการประกอบพิธีเข้าประจำกองของลูกเสือวิสามัญ พิธีการเข้าประจำกองของลูกเสือวิสามัญ ถือเป็นพิธีการสำคัญของลูกเสือวิสามัญ ประกอบด้วยพิธีสำรวจตนเอง (Vigil) และพิธีเข้าประจำกองลูกเสือวิสามัญที่เข้าร่วมพิธีจะมีการกล่าวทบทวนคำปฏิญาณของลูกเสือ ถือเป็นการให้คำมั่นสัญญากับผู้บังคับบัญชา และลูกเสือทุกคนว่า ต่อไปลูกเสือวิสามัญจะประพฤติปฏิบัติตัวตามคำปฏิญาณที่ได้ให้ไว้ และพร้อมที่จะเป็นแบบอย่างที่ดีของกองลูกเสือต่อไป
ส่วนพิธีเข้าประจำกองลูกเสือวิสามัญในประเทศไทย มีครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๘ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๐๖ โดยการริเริ่มของนายอภัย จันทวิมล ได้จัดให้มีการเปิดการฝึกอบรมวิชาผู้กำกับลูกเสือวิสามัญขั้นความรู้เบื้องต้นเป็นครั้งแรก ณ บริเวณเกาะลอย สวนลุมพินี กรุงเทพฯ มีผู้เข้าอบรมจำนวน ๖๖ คน ต่อจากนั้น เมื่อวันที่ ๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๐๖ ท่านได้นำผู้บังคับบัญชาที่ผ่านการอบรมทั้ง ๖๖ คน เดินทางไปยังวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร เพื่อทำพิธีสำรวจตนเอง (Vigil) และกลับไปทำพิธีเข้าประจำกอง ณ บริเวณเกาะลอย สวนลุมพินีอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งได้มีการนำพิธีการดังกล่าวมาใช้จนถึงปัจจุบัน
ขั้นตอนพิธีสำรวจตัวเองก่อนเข้าประจำกองลูกเสือวิสามัญ
เมื่อเตรียมลูกเสือวิสามัญได้รับการฝึกอบรมเครื่องหมายลูกเสือโลกครบตามหลักสูตรแล้วให้ผู้กำกับลูกเสือวิสามัญในกองนั้น ๆ ดำเนินการจัดให้เตรียมลูกเสือวิสามัญเหล่านั้นเข้าพิธีประจำกองตามลำดับขั้นตอนต่าง ๆ ดังนี้ คือ
๑. จัดให้มีพิธีเข้าประจำกองในตอนกลางคืน ในสถานที่เงียบสงบ มืด จนกว่าจะเสร็จพิธีเข้าประจำกองลูกเสือวิสามัญ
๒. ลูกเสือวิสามัญแต่งเครื่องแบบครบเรียบร้อย เข้านั่งที่ที่จัดไว้ อันเป็นที่นั่งที่สบายพอสมควรและสงบเงียบ
๓. ประธานในพิธี กล่าว ปราม ชี้แจงถึงวัตถุประสงค์ของการสำรวจตัวเอง และพิธีเข้าประจำกองให้ทุกคนปฏิบัติด้วยศรัทธา สงบ จริงใจ และมีสมาธิที่แน่วแน่ ให้ถือว่าเป็นพิธีการที่สำคัญ ศักดิ์สิทธิ์ ไม่ควรทำเล่น ๆ หรือสนุกสนาน ทุกคนต้องสงบและสำรวมอย่างแท้จริง
๔. หลังจากที่ประธานกล่าวถึงวัตถุประสงค์ในข้อ ๓ แล้ว ประธานจะกล่าวญาณ โดยปราศรัยถึงเกาะแก่งแห่งชีวิต ซึ่งจะเป็นตัวอุปสรรคขัดขวางมิให้การดำเนินชีวิตของคนเราดำเนินไปด้วยดี เกาะแก่งแห่งชีวิตดังกล่าว คือ อบายมุขต่าง ๆ ได้แก่ สุรา นารี ภาชี กีฬาบัตร พร้อมกล่าวอวยพรให้ประสบความสำเร็จในชีวิตและโชคดีตลอดไป
๕. กองลูกเสือวิสามัญได้เตรียมแผนการสำรวจตัวเองไว้ล่วงหน้าก่อนแล้ว โดยเขียนกฎลูกเสือ ๑๐ ข้อ เพียงย่อ ๆ เช่น “มีเกียรติ” “ประพฤติชอบ” ลงบนก้อนหินที่มีขนาดโตหรือในกระดาษแผ่นโตสุดแต่กรณี เพื่อให้ผู้พบอ่านง่าย จำนวน ๑๐ แห่ง ครบจำนวนกฎทั้ง ๑๐ ข้อ แล้วนำก้อนหินหรือกระดาษตอกติดเสา หรือ ต้นไม้ ไปตั้งไว้ในป่า (หากมี) หรือรอบ ๆ สนาม โดยวางให้ห่าง ๆ กันตามลำดับกฎข้อ ๑-๑๐ ระยะทางที่วางให้มีระยะห่างพอสมควร (สิ่งต่าง ๆ ดังกล่าวในข้อนี้ต้องเตรียมไว้ก่อนล่วงหน้าในตอนเย็นของวันสำรวจตัวเอง) พร้อมทั้งกำหนดตัวบุคคลจำนวน ๑๑ คน ไว้ประจำจุดทั้ง ๑๐ จุด รวมทั้งผู้ที่จะกล่าวสรุปอีก ๑ คน อยู่รวมกับกฎข้อที่ ๑๐ ทั้งนี้ผู้ประจำตามจุดทั้ง ๑๐ ต้องมีไฟฉายติดตัวด้วยเพื่อไว้อ่านข้อความ ซึ่งอธิบายความหมายของกฎลูกเสือแบบผู้ใหญ่ได้ และอย่าลืมว่าตามจุดต่าง ๆ ดังกล่าว ต้องมีตะเกียงจุดตั้งไว้เพื่อแสดงจุดที่ตั้งด้วย เพราะลูกเสือจะต้องเดินผ่านโดยมีผู้กำกับลูกเสือนำทางไป เมื่อลูกเสือได้ฟังเรื่อง “การกล่าวญาณ” จบแล้ว
๖. ผู้กำกับลูกเสือหรือรองผู้กำกับลูกเสือคนหนึ่ง จะเป็นผู้พากองลูกเสือออกเดินทางไปในระหว่างความมืด ซึ่งเปรียบเสมือนผ่านวิธีทางแห่งชีวิตลูกเสือ โดยเรียกแถวลูกเสือให้อยู่ในรูปแถวตอนหมู่ (ตอนลึก) เมื่อเรียบร้อยแล้วถือไฟฉายเดินนำลูกเสือไปช้า ๆ ทุกคนอยู่ในภาวะสงบ ไม่พูด ไม่คุยสิ่งใดทั้งสิ้น และเดินตามผู้นำไป เมื่อถึงกฎข้อ ๑ ให้ผู้นำแถว สั่งให้แถวลูกเสือหยุด แล้วให้สัญญาณด้วยไฟฉายแก่ผู้ประจำฐาน ซึ่งซ่อนตัวอยู่ไม่ให้ลูกเสือเห็น อ่านข้อความของกฎข้อ ๑ และคำสอนประกอบดัง ๆ และช้า ๆ ด้วยเสียงที่หนักแน่น ในท่ามกลางความมืดอันสงบเงียบนั้น เมื่อจบข้อความแล้วผู้นำแถวก็นำลูกเสือผ่านฐานต่อไปตามลำดับจนครบกฎข้อ ๑๐ และแล้วตอนท้ายสุดจะมีผู้กล่าวสรุปกฎทั้ง ๑๐ ข้อ อีกครั้งหนึ่ง ซึ่งเป็นการส่งเสริมให้ลูกเสือได้เข้าใจและแปลความหมายของกฎของลูกเสือแบบผู้ใหญ่
๗. หลังจากการกล่าวสรุปแล้ว ผู้นำแถวจึงนำแถวไปสู่ลานกว้างอีกแห่งหนึ่ง ซึ่งมีโต๊ะหมู่บูชาตั้งอยู่พร้อมแล้ว ผู้นำแถวเชิญประธานจุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย ผู้นำแถวและลูกเสือยืนพนมมือเสร็จแล้ว ผู้นำแถวมอบเทียน พร้อมทั้งคำสำรวจตัวเอง (ข้อบังคับฯ ข้อ ๒๙๗) ให้ลูกเสือทุกคน นำเทียนไปต่อไฟจากเทียนที่โต๊ะหมู่บูชา หรือจากประธานในพิธี ลูกเสือแต่ละคนเมื่อรับของดังกล่าวแล้ว ให้แยกกันไปหาที่นั่ง ที่จุดใดจุดหนึ่งในบริเวณนั้น ต่างคนต่างนั่งให้ห่างกัน เสมือนนั่งอยู่โดดเดี่ยวแล้วพิจารณาตัวเองตามข้อความทั้ง ๒๑ ข้อ ในแผ่นกระดาษคำสำรวจตัวเองที่ได้รับแจกมา หากมีข้อใดที่ไม่อาจปฏิบัติได้หรือ ยากแก่การปฏิบัติ ให้พิจารณาสำรวจตัวเองในข้อนั้นนาน ๆ อีกครั้งหนึ่ง หากยังถือปฏิบัติไม่ได้เช่นเดิม ลูกเสือผู้นั้นมีสิทธิ์เดินออกไปจากบริเวณที่สำรวจตัวเองได้ และไม่มีสิทธิ์ที่จะเข้าร่วมพิธีประจำกองลูกเสือวิสามัญ ในวันนั้น จนกว่าลูกเสือผู้นั้นจะผ่านการสำรวจตัวเองทุกข้อ จึงจะเข้าพิธีประจำกองลูกเสือวิสามัญได้ในวันต่อไป
๘. เมื่อผู้นำแถวเห็นว่าลูกเสือได้กระทำการสำรวจตัวเองเรียบร้อยแล้วให้นำลูกเสือเข้าสู่สถานที่ที่จะประกอบพิธีเข้าประจำกองลูกเสือวิสามัญ และติดแถบสามสีต่อไป สถานที่ที่จะประกอบพิธีเข้าประจำกองลูกเสือวิสามัญ ควรจะเป็นคูหาลูกเสือวิสามัญหรือพุทธศาสนา หรือโบสถ์ ซึ่งเป็นสถานที่สงบเงียบต่อจากนั้น กองลูกเสือวิสามัญทำพิธีเข้าประจำกอง ตามข้อบังคับคณะลูกเสือแห่งชาติ เมื่อลูกเสือได้ติดแถบสามสีเรียบร้อยแล้ว ผู้กำกับลูกเสือกล่าวให้โอวาท ลูกเสือเก่า (ถ้ามี) หรือผู้กำกับลูกเสือจับมือแสดงความยินดีเป็นอันเสร็จพิธี
การสำรวจตัวเองมีข้อความดังต่อไปนี้
๑. เมื่อเรามีอายุมากขึ้น วันเวลาก็ยิ่งผ่านไปเร็วขึ้น เมื่อคิดดูจะเห็นว่าชีวิตของคนเรานั้นสั้นมากและในไม่ช้าก็จะสิ้นสุดลง ลูกเสือวิสามัญจึงควรถามตนเองว่า
- ฉันได้ใช้เวลาในชีวิตของฉันให้เป็นประโยชน์สมกับที่ได้เกิดมาแล้วหรือ
- ฉันได้ปล่อยเวลาให้หมดไปโดยไม่ได้ทำอะไรให้เป็นประโยชน์เลยหรือ
- ฉันกำลังทำงานอะไรอยู่ที่ไม่เป็นประโยชน์แก่ใครเลยหรือ
- ฉันเสาะแสวงหาความเพลิดเพลินหรือหาเงินหรือหาหนทางก้าวหน้าให้แก่ตนเองมากเกินไปโดยมิได้พยายามช่วยเหลือผู้อื่นหรือ
- ฉันเคยทำร้ายหรือทำให้ใครเดือดร้อนบ้างหรือไม่ ฉันทำอะไรเพื่อแก้ไขสิ่งที่ฉันผิดไปแล้วได้บ้าง
- ฉันเคยช่วยเหลือใครบ้างในชีวิตของฉัน มีใครอีกหรือไม่ที่ฉันจะช่วยได้
๒. คติพจน์ของลูกเสือวิสามัญ คือ “บริการ” ฉะนั้นถ้าได้เข้าร่วมเป็นลูกเสือวิสามัญก็คงจะได้มีโอกาสได้รับการฝึกอบรมและทำงานเกี่ยวกับบริการต่าง ๆ ซึ่งถ้าฉันมิได้เป็นลูกเสือวิสามัญ ก็จะไม่มีโอกาสเช่นนั้น ลูกเสือวิสามัญจึงควรถามตนเองว่า
- ฉันเข้าเป็นลูกเสือวิสามัญเพื่อความสนุกสนานที่จะได้เท่านั้นหรือ
- ฉันตั้งใจจะบริการโดยการเสียสละอย่างจริงใจหรือไม่
- ฉันเข้าใจความหมายของคำว่า “บริการ” อย่างไร
- ฉันทำให้ผู้อื่นเดือดร้อนในงาน แผนงานหรือกระทำการใด ๆ ของฉันบ้างหรือไม่
- บริการอะไรที่ฉันทำได้อย่างดีที่สุด ที่บ้าน ที่ทำงาน และในเวลาว่างของฉัน
๓. บริการ ไม่ใช่เรื่องของเวลาว่างเท่านั้น บริการควรเป็นทัศนคติแห่งชีวิต ซึ่งมีช่องทางที่จะแสดงออกมาด้วยความสมัครใจของเราเอง เราไม่ได้ทำงานเพื่อนายจ้างใด ๆ ที่เราให้บริการเพราะเรามีจิตใจสูง การกระทำเช่นนี้แสดงว่าเราเป็นลูกผู้ชาย เนื่องจากความสำเร็จการให้บริการย่อมแล้วแต่นิสัยใจคอของเราเองเป็นสำคัญ ฉะนั้นจึงต้องบังคับตนเองให้อยู่ในวินัยเพื่อว่าเราจะได้เป็นตัวอย่างที่ดีแก่ผู้อื่น
- ฉันจะเพียรพยายามที่จะละหรือจะเลิกนิสัยชั่วทั้งหลายที่ได้มีมาแต่ก่อนแล้วหรือ
- อะไรเป็นจุดอ่อนในนิสัยใจคอของฉันบ้าง
- ฉันมีความจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนาพระมหากษัตริย์ และซื่อตรงต่อครอบครัว ผู้บังคับบัญชา ผู้น้อย กระบวนการลูกเสือ เพื่อนของฉัน และตัวของฉันเองหรือไม่
- ฉันเป็นผู้มีเกียรติ มีสัจจะ และเชื่อถือได้จริงหรือ
- ฉันมีใจหนักแน่น ร่าเริง และมีความเมตตากรุณาต่อผู้อื่นหรือ
- ฉันมีสติ และประพฤติชอบด้วยกายวาจา ใจ หรือ
- ฉันมีมานะ อดทน ที่จะยืนหยัดในเมื่อโชคไม่เข้าข้างฉัน หรือ
- ฉันเป็นตัวของฉันเอง หรือฉันยอมเอาให้ผู้อื่นชักจูงไป
- ถ้าฉันมีใจเข้มแข็งพอจะหลีกเลี่ยงจากสิ่งเย้ายวนต่าง ๆ เช่น การพนัน สุรา นารี หรือ
- ถ้าฉันมีข้อบกพร่องในสิ่งเหล่านี้ประการใด ฉันจะตกลงใจ ณ บัดนี้หรือไม่ว่า ฉันจะทำตัวให้ดีที่สุดที่จะแก้ไขข้อบกพร่องเหล่านั้น และสลัดให้สิ้นไปขอให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายจงดลบันดาลให้มีกำลังใจที่จะก้าวไปข้างหน้าอย่างลูกผู้ชายสมเป็นพลเมือง และเพื่อเป็นกำลังของชาติบ้านเมืองของข้าสืบไป
คุณประโยชน์ของพิธีการสำรวจตัวเองของผู้ที่เข้าเป็นลูกเสือวิสามัญ
๑. เพื่อตระหนักถึงความสำคัญและคุณค่าอย่างมีคุณธรรม จริยธรรม ตามคำปฏิญาณและกฎของลูกเสือ
๒. เพื่อเพิ่มความมั่นใจ มุ่งมั่น เจตคติที่ดี ในการประพฤติ ปฏิบัติตนตามกฎของลูกเสือ
๓. เพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพ ประสิทธิผล ในการให้บริการและให้ความช่วยเหลือผู้อื่นตามคติพจน์ของลูกเสือวิสามัญ และเป็นการพัฒนาตนเองให้เป็นบุคคลที่มีคุณค่าต่อสังคม
๔. เพื่อสามารถวิเคราะห์ และหาแนวทางในการช่วยผู้อื่น ช่วยชุมชน สิ่งแวดล้อม ช่วยชาติ บ้านเมือง ได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม
๕. เพื่อพัฒนาความสามารถ และสมรรถนะเฉพาะตัวสู่ความเป็นเลิศ
๖. เพื่อสำรวจตัวเองถึงข้อบกพร่องต่าง ๆ ที่ผ่านมา และหาวิธีแก้ไขให้ดียิ่งขึ้น
ที่มา : สารานุกรมลูกเสือ ๑๐๐ ปี ลูกเสือไทย เล่มที่ ๒
แผนกกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน
ฝ่ายการศึกษา อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ
www.edbathai.com
.........................................
คัดลอกLinkเพื่อแชร์ : https://bit.ly/3gSHmLT