กฎหมายเกี่ยวกับกิจการลูกเสือ – พระราชบัญญัติลูกเสือ
พระราชบัญญัติลูกเสือ
ความหมาย
พระราชบัญญัติ โดยศัพท์ หมายถึง บทบัญญัติแห่งกฎหมายที่พระมหากษัตริย์ทรงตราขึ้นโดยคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภาเพื่อใช้ในการบริหารราชการแผ่นดิน
พระราชบัญญัติลูกเสือ หมายถึง บทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ตราขึ้นเพื่อกำหนดสาระสำคัญในรายละเอียดในเรื่องที่เกี่ยวกับกิจการลูกเสือ นำมาใช้เป็นหลักการในการบริหารกิจการลูกเสือ
พระราชบัญญัติลูกเสือ ประกาศใช้สืบต่อมาถึง 5 ฉบับ คือ
1. พระราชบัญญัติลูกเสือ พ.ศ. 2507
2. พระราชบัญญัติลูกเสือ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2509
3. พระราชบัญญัติลูกเสือ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2528
4. พระราชบัญญัติลูกเสือ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2530
5. พระราชบัญญัติลูกเสือ (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2551
พระราชบัญญัติลูกเสือ พ.ศ. ๒๕๕๑
พระราชบัญญัติลูกเสือ พ.ศ. ๒๕๕๑ เกิดขึ้นจากการปฏิรูปโครงสร้างการบริหารราชการ ใน พ.ศ. ๒๕๔๒ และการจัดการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. ๒๕๔๖ จึงต้องปรับปรุงบทบัญญัติในพระราชบัญญัติลูกเสือให้เกิดความสอดคล้องกัน
หลักการและสาระสำคัญของพระราชบัญญัติลูกเสือ พ.ศ. ๒๕๕๑
พระราชบัญญัติลูกเสือ พ.ศ. ๒๕๕๑ ประกาศใช้เมื่อวันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๑ และมีผลบังคับใช้วันที่ ๕ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๑ ด้วยเหตุผลหลักเพื่อปรับปรุงบทบัญญัติให้สอดคล้องกับการปฏิรูปโครงสร้างระเบียบบริหารราชการและการจัดการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. ๒๕๔๖ และสอดคล้องกับสภาพปัจจุบัน แบ่งเป็น ๖ หมวด ๗๔ มาตรา
สรุปสาระสำคัญได้ดังต่อไปนี้
พระราชบัญญัติฉบับนี้ให้ยกเลิกพระราชบัญญัติลูกเสือ ตั้งแต่ฉบับ พ.ศ. ๒๕๐๗ ถึงฉบับ พ.ศ. ๒๕๓๐ ระบุความหมายของลูกเสือ บุคลากรทางการลูกเสือ ลูกเสือที่เป็นหญิงให้เรียกว่า เนตรนารี
บัญญัติให้พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของคณะลูกเสือแห่งชาติ
กำหนดวัตถุประสงค์ของคณะลูกเสือแห่งชาติ เน้นแนวทาง ๕ ประการ
ให้มี สภาลูกเสือไทย ประกอบด้วย นายกรัฐมนตรี เป็นสภานายก รองนายกรัฐมนตรี เป็นอุปนายก กรรมการโดยตำแหน่ง ได้แก่ หัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนไม่เกินแปดสิบคน ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งตามพระราชอัธยาศัย เลขาธิการสำนักงานลูกเสือแห่งชาติเป็นกรรมการและเลขานุการ รองเลขาธิการและผู้ช่วยเลขาธิการสำนักงานลูกเสือแห่งชาติเป็นผู้ช่วยเลขานุการ มีอำนาจหน้าที่หลักในการกำหนดนโยบายเพื่อความมั่นคง และความเจริญก้าวหน้าของคณะลูกเสือแห่งชาติ
ให้มีคณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติ ประกอบด้วย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเป็นประธานกรรมการ กรรมการโดยตำแหน่ง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการและปลัดกระทรวงมหาดไทยเป็นรองประธานกรรมการ หัวหน้าส่วนราชการในกระทรวงศึกษาธิการ เลขาธิการสภากาชาดไทย ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการลูกเสือชาวบ้าน กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนไม่เกินสิบห้าคน ซึ่งสภานายกสภาลูกเสือไทยแต่งตั้งโดยคำแนะนำของกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติ ซึ่งในจำนวนนี้ต้องมาจากภาคเอกชนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง เลขาธิการสำนักงานลูกเสือแห่งชาติเป็นกรรมการ และเลขานุการ รองเลขาธิการและผู้ช่วยเลขาธิการสำนักงานลูกเสือแห่งชาติเป็นผู้ช่วยเลขานุการ มีอำนาจหน้าที่บริหารจัดการ ดำเนินการตามวัตถุประสงค์ของคณะลูกเสือแห่งชาติและนโยบายของสภาลูกเสือไทย
ให้รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการแต่งตั้งรองปลัดกระทรวงศึกษาธิการคนหนึ่งทำหน้าที่เลขาธิการสำนักงานลูกเสือแห่งชาติ แต่งตั้งผู้บริหารระดับสูงอื่นในกระทรวงศึกษาธิการทำหน้าที่รองเลขาธิการและผู้ช่วยเลขาธิการตามจำนวนที่เหมาะสมโดยการเสนอของเลขาธิการสำนักงานลูกเสือแห่งชาติ
ให้สำนักงานลูกเสือแห่งชาติเป็นหน่วยงานของรัฐที่ไม่เป็นส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจ ตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณหรือกฎหมายอื่น มีฐานะเป็นนิติบุคคล อยู่ในกำกับของกระทรวงศึกษาธิการ มีอำนาจหน้าที่ดำเนินการตามวัตถุประสงค์ของคณะลูกเสือแห่งชาติ นโยบายของสภาลูกเสือไทยและดำเนินงานของคณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติ มีรายได้ตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติ
ให้มีคณะกรรมการลูกเสือจังหวัด โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานกรรมการ กรรมการโดยตำแหน่ง กรรมการประเภทผู้แทน ให้ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาเขต ๑ เป็นกรรมการและเลขานุการ ผู้อำนวยการศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนจังหวัดเป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ มีอำนาจหน้าที่ควบคุม ดูแลกิจการลูกเสือให้เป็นไปตามกฎหมาย ข้อบังคับระเบียบของทางราชการและคณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติ พิจารณาคำขอการจัดตั้งค่ายลูกเสือภายในจังหวัด
ให้มีสำนักงานลูกเสือจังหวัดอยู่ในสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาเขต ๑ มีผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาเขต ๑ เป็นหัวหน้าสำนักงานลูกเสือจังหวัด
กำหนดให้การจัดตั้งค่ายลูกเสือในจังหวัด ต้องได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากคณะกรรมการลูกเสือจังหวัด
ให้มีคณะกรรมการลูกเสือเขตพื้นที่การศึกษา ประกอบด้วย ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา เป็นประธานกรรมการ มีกรรมการโดยตำแหน่ง กรรมการประเภทผู้แทน ซึ่งประธานกรรมการแต่งตั้งโดยคำแนะนำของกรรมการลูกเสือเขตพื้นที่ ในจำนวนนี้จะต้องแต่งตั้งจากภาคเอกชนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง มีอำนาจหน้าที่ควบคุม ดูแลกิจการลูกเสือให้เป็นไปตามกฎหมายข้อบังคับ ระเบียบของทางราชการและคณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติ ภายในเขตพื้นที่การศึกษา
ให้มีสำนักงานลูกเสือเขตพื้นที่การศึกษา อยู่ในสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา มีผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาเป็นหัวหน้าสำนักงานลูกเสือเขตพื้นที่การศึกษา
กำหนดเรื่องทรัพย์สินของสำนักงานลูกเสือแห่งชาติและการบริหารจัดการในเรื่องทรัพย์สินเหล่านั้น
ระบุเรื่องการจัดกลุ่ม ประเภท ตำแหน่งลูกเสือ การตั้ง การยุบ การจัดหน่วยลูกเสือ เหล่าลูกเสือ และประเภทลูกเสือทั้งปวง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง กำหนดให้มีตำแหน่งผู้บังคับบัญชาลูกเสือ ๑๖ ลำดับ ตำแหน่งผู้ตรวจการลูกเสือมีหน้าที่ตรวจตรา แนะนำ ชี้แจงและรายงานเพื่อให้บริหารงานลูกเสือเป็นไปตามนโยบาย ข้อบังคับระเบียบ และแบบธรรมเนียมของลูกเสือ มี ๑๑ ลำดับ
ระบุเรื่องธง เครื่องแบบและการแต่งกาย ให้มีธงคณะลูกเสือแห่งชาติ มีลักษณะพื้นเป็นธงไตรรงค์ กว้าง ๕๐ ซม. ยาว ๕๒ ซม. ตรงกลาง มีตราธรรมจักรเส้นผ่านศูนย์กลาง ๓๒ ซม. ธงลูกเสือประจำจังหวัดโดยรับพระราชทานจากประมุขของคณะลูกเสือแห่งชาติ มีเครื่องแบบและการแต่งกายลูกเสือให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง ย้ำให้ลูกเสือต้องปฏิบัติตามวินัยซึ่งกำหนดไว้ในในข้อบังคับคณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติและตามแบบธรรมเนียมของลูกเสือ
ให้มีเครื่องราชอิสริยาภรณ์สำหรับพระราชทานแก่บุคลากรทางการลูกเสือ ลูกเสือและบุคคลผู้มีความดีความชอบตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้ ได้แก่ เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นสิริยิ่งรามกีรติ ลูกเสือสดุดีชั้นพิเศษ เหรียญลูกเสือสรรเสริญ มีสามชั้น เหรียญลูกเสือสดุดีมีสามชั้น เหรียญลูกเสือยั่งยืน ครื่องราชอิสริยาภรณ์เหล่านี้ให้เป็นสิทธิแก่ผู้ที่ได้รับพระราชทาน เมื่อผู้ได้รับพระราชทานวายชนม์ให้ตกทอดแก่ทายาทเพื่อรักษาไว้เป็นที่ระลึก
ให้มีเข็มลูกเสือสมนาคุณ ไว้สำหรับตอบแทนผู้มีจิตศรัทธาบริจาคเงินหรือทรัพย์สินอย่างอื่นเพื่อบำรุงการลูกเสือ มีสี่ชั้น
ให้มีเข็มลูกเสือบำเพ็ญประโยชน์ เพื่อส่งเสริมการบำเพ็ญประโยชน์ของลูกเสือ
มีบทกำหนดโทษ ผู้แต่งเครื่องแบบลูกเสือหรือประดับเครื่องหมายลูกเสือโดยไม่มีสิทธิ์ ผู้ทำปลอมเข็มลูกเสือสมนาคุณ เข็มลูกเสือบำเพ็ญประโยชน์ต้องระวางโทษจำคุกหรือปรับเป็นเงินหรือทั้งจำทั้งปรับ
ความสำคัญ
พระราชบัญญัติลูกเสือเป็นบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ตราขึ้นเพื่อกำหนดรายละเอียดเกี่ยวกับกิจการลูกเสือทั้งระบบ ทั้งในด้านองค์ความรู้ ความเข้าใจในภาพรวมและองค์ประกอบต่างๆของกิจการลูกเสือ ระบุความหมาย วัตถุประสงค์ จำแนกแยกชั้น ประเภท บทบาทหน้าที่ ปฏิสัมพันธ์ขององค์ประกอบเหล่านั้น รวมทั้งวิธีการในการบริหารจัดการในส่วนรวมและส่วนย่อยทั้งระบบงานนอกจากนี้ พระราชบัญญัติลูกเสือยังได้บัญญัติให้มีการกำหนดข้อปฏิบัติในรูปแบบกฎกระทรวง ข้อบังคับ กฎ ระเบียบเป็นหลักการ วิธีการปฏิบัติในสาระสำคัญปลีกย่อยตามบทบัญญัติในพระราชบัญญัตินี้ พระราชบัญญัติลูกเสือจึงเป็นแม่บทใหญ่ในการดำเนินกิจการลูกเสือที่ผู้ที่เกี่ยวข้องทุกคนจะต้องศึกษา เรียนรู้ วิเคราะห์ สังเคราะห์ให้เข้าใจอย่างถ่องแท้และยึดถือเป็นหลักปฏิบัติตามอย่างถูกต้อง มั่นคง ต่อเนื่องเพื่อดำรงไว้และพัฒนาให้กิจการลูกเสือเจริญก้าวหน้าสภาพรตามพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชบิดาของลูกเสือไทยและหลักการ วิธีการของลูกเสืออย่างแท้จริง
Download พระราชบัญญัติลูกเสือ พ.ศ.2551 (ฉบับเต็ม)
(https://www.scoutthailand.org/file-upload/pdf20200418195518-89074.pdf)
ที่มา : สารานุกรมลูกเสือ ๑๐๐ ปี ลูกเสือไทย เล่มที่ ๔
แผนกกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน
ฝ่ายการศึกษา อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ
www.edbathai.com
.........................................
คัดลอกLinkเพื่อแชร์ : https://bit.ly/3G821p1