พิธีการลูกเสือ - การชักธงชาติ
ความหมาย
ธงชาติเป็นสัญลักษณ์ที่ทั่วโลกใช้ แสดงถึงความเป็นชาติที่มีอารยธรรมรุ่งเรือง มีเสถียรภาพอธิปไตย ความเป็นหมู่เป็นเหล่า ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน การประพฤติปฏิบัติต่อธงชาติเสมือนการประพฤติปฏิบัติต่อคนในชาติซึ่งเป็นเจ้าของธงชาตินั้น ๆ และในด้านความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างประเทศ จึงต้องมีการระมัดระวังเป็นพิเศษเกี่ยวกับการปฏิบัติต่อธงชาติของประเทศอื่น ๆ
การชักธงชาติ หมายถึง กิจกรรมที่ลูกเสือต้องปฏิบัติก่อนที่จะเริ่มพิธีการต่าง ๆ ในทุกเช้าหรือเมื่อเริ่มกิจกรรมระหว่างอยู่ค่ายพักแรก (ฝึกอบรม)
ความเป็นมา
ในพ.ศ. ๒๔๖๐ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงนำประเทศไทยเข้าร่วมสงครามโลก ครั้งที่ ๑ ทรงพระราชดำริว่า การประกาศสงครามนับเป็นความเจริญก้าวหน้าขั้นหนึ่งของประเทศ สมควรจะมีสิ่งเตือนใจ สำหรับวาระนี้ไว้ภายหน้า สิ่งนั้นควรได้แก่ “ธงชาติ” ทรงเห็นว่าลักษณะที่แก้ไขในพ.ศ. ๒๔๕๙ นั้น ยังไม่สง่างาม ทรงโปรดเกล้าฯ ให้เพิ่มแถบสีน้ำเงินแก่ขึ้นอีกสีหนึ่งเป็นสามสี ตามลักษณะของธงนานาชาติที่ใช้กันอยู่ เพื่อให้เป็นเครื่องหมายว่าไทยเข้าร่วมกับฝ่ายสัมพันธมิตร และอีกประการหนึ่ง สีน้ำเงินเป็นสีประจำพระชนมวารเฉพาะพระองค์ จึงเป็นสีที่ควรประดับไว้ในธงชาติไทย ดังนั้น ในพ.ศ. ๒๔๖๐ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติธง พระพุทธศักราช ๒๔๖๐ ออกประกาศเมื่อวันที่ ๒๘ กันยายน พ.ศ. ๒๔๖๐ มีผลบังคับภายหลังวันออกประกาศในหนังสือราชกิจจานุเบกษาแล้ว ๓๐ วัน
การชักธงชาติในตอนเช้าระหว่างการฝึกอบรม/อยู่ค่ายพักแรม สำหรับการประชุมกองและการชักธงชาติในตอนเช้า ระหว่างการฝึกอบรมหรืออยู่ค่ายพักแรมของลูกเสือ ผู้อำนวยการฝึกจะมอบหมายให้คนใดคนหนึ่งเป็นพิธีกรดำเนินการ และให้มีการปฏิบัติในการเปิดประชุมกองและชักธงชาติขึ้นสู่ยอดเสาตามลำดับดังนี้
๑. พิธีกรยืนตรงหน้าเสาธง หันหลังให้เสาธง โดยยืนห่างจากเสาธงประมาณ ๓ ก้าว
๒. ใช้คำสั่งเรียก “กอง” ใช้สัญญาณมือเรียกแถวครึ่งวงกลม
๓. ให้หมู่แรกอยู่ทางซ้ายมือของผู้เรียกเสมอ
๔. ให้หมู่ถัดไปเข้าแถวจัดระยะเคียงต่อจากหมู่แรกเรียงกันไปตามลำดับจนครบทุกหมู่เป็นรูปครึ่งวงกลมให้หมู่สุดท้ายอยู่ทางขวามือของผู้เรียก โดยรองนายหมู่ของหมู่สุดท้ายจะต้องยืนตรงกับนายหมู่ของหมู่แรก
๕. พิธีกรสั่ง “จัดแถว” เมื่อจัดรูปแถวเรียบร้อยแล้ว สั่ง นิ่ง ระวังอย่าให้วงกว้างเกินไปจะทำให้ได้ยินเสียงพูดไม่ชัดเจน
๖. ระยะเคียงระหว่างบุคคลในหมู่ ให้ใช้มือซ้ายทาบสะเอว นิ้วทั้งห้าเรียงชิดติดกันแบะข้อศอกไปข้างหน้าเล็กน้อย ศอกซ้ายชนกับแขนขวาของบุคคลข้างเคียง ระยะเคียงระหว่างหมู่ ๑ ช่วงแขน เมื่อทุกคนพร้อมพิธีกรสั่ง “ตามระเบียบ-พัก”
๗. พิธีกรไปยืนที่หัวแถวในตำแหน่งที่สามารถมองเห็นหมู่บริการ แล้วสั่ง “กอง-ตรง” เชิญผู้แทนหมู่บริการเข้าไปชักธงชาติ เมื่อจะสั่งอะไรทุกครั้งให้ก้าวออกมา ๑ ก้าว แล้วจึงสั่ง เมื่อสั่งเสร็จกลับเข้าที่
๘. นายหมู่บริการหรือลูกเสือในหมู่บริการ ๒ คน วิ่งออกไปยืนห่างจากเสาธงชาติประมาณ ๓ ก้าว ถ้ามีอาวุธให้ฝากไว้กับคนถัดไป
๙. ลูกเสือทั้งสองนายทำวันทยหัตถ์พร้อมกัน คนขวามือเดินเข้าไป ๒ ก้าว ยืนเท้าชิด แก้เชือกผูกเสาธง ถอยหลังกลับมายืนที่เดิม แยกเชือกธงที่จะชักขึ้นให้คนที่อยู่ทางซ้ายมือถือไว้ ส่วนธงชาติอยู่ทางคนขวามือ อย่าให้เส้นเชือกหย่อน ยืนเตรียมพร้อม แล้วพิธีกรสั่ง “กอง เคารพธงชาติ” (ถ้ามีอาวุธสั่ง “กอง เคารพธงชาติ วันทยา-วุธ”) ผู้เข้าอบรมทุกคนอยู่ในท่าตรง (ถ้ามีอาวุธอยู่ในท่าวันทยาวุธ) ผู้ให้การฝึกอบรม ซึ่งยืนแถวหน้ากระดานอยู่หลังเสาธง ทำวันทยหัตถ์
๑๐. ลูกเสือในหมู่บริการที่กำหนด นำร้องเพลงชาติ ลูกเสือทุกคนร้องเพลงชาติ พอเริ่มร้องเพลงชาติให้ผู้ชักธงคนซ้ายมือ ค่อย ๆ สาวสายเชือกให้ธงชาติขึ้นสู่ยอดเสาช้า ๆ สายเชือกตึง ส่วนคนทางขวาหย่อนสายเชือกให้ธงชาติค่อย ๆ ขึ้นไปและคุมสายเชือกให้ตึงเสมอกัน ผู้ชักธงจะต้องกะระยะว่า พอเพลงชาติจบให้ธงชาติถึงปลายเสาพอดี เสร็จแล้วคนทางขวาเข้าไปผูกเชือกให้เรียบร้อย (เท้าชิด)
๑๑. ผู้ชักธงทำวันทยหัตถ์พร้อมกัน แล้วกลับหลังหันวิ่งกลับเข้าแถวตามเดิมและอยู่ในท่าตรง(หรือวันทยาวุธ พิธีกรสั่ง เรียบ-อาวุธ) ผู้ให้การฝึกอบรมเอามือลงพร้อมกับผู้ชักธง
๑๒. พิธีกรสั่ง “ถอดหมวก-หมู่บริการนำสวดมนต์” (ถ้ามีอาวุธให้ยกมาวางไว้กึ่งกลางระหว่างเท้าทั้งสอง ส่วนบนของอาวุธพิงแขนซ้ายซึ่งงอเป็นมุมฉากรอรับอยู่แล้ว) ทุกคนถอดหมวก พนมมือแล้วสวดมนต์ โดยผู้แทนหมู่บริการนำสวดมนต์เป็นวรรค ๆ อย่างย่อ เสร็จแล้วพิธีกรสั่ง “สงบนิ่ง” ลูกเสือทุกคนรวมทั้งผู้ให้การฝึกอบรมยืนสงบนิ่ง ๑ นาที แล้วเงยหน้าขึ้นสวมหมวก
๑๓. พิธีกรสั่ง “กอง ตามระเบียบ-พัก” พิธีกรหันไปทางผู้อำนวยการฝึก ทำวันทยหัตถ์ แล้วเชิญผู้อำนวยการฝึก
๑๔. ขณะที่ผู้อำนวยการฝึกเดินออกไปหน้าเสาธง พิธีกรสั่ง “กอง-ตรง” ทุกคนเคารพด้วยท่าตรง (ถ้ามีอาวุธสั่ง กอง-ตรง วันทยา-วุธ) ผู้อำนวยการทำวันทยหัตถ์ตอบ พิธีกรสั่ง “ตามระเบียบ-พัก” (ถ้ามีอาวุธสั่ง “เรียบ-อาวุธ ตามระเบียบ-พัก”)
๑๕. ผู้อำนวยการฝึกกล่าวปราศรัยดำเนินการเกี่ยวกับกิจวัตรประจำวัน เช่น การรายงานการตรวจ แจกธงเขียว ให้โอวาทตามขั้นตอน จบแล้วพิธีกรสั่ง “กอง-ตรง” ทุกคนเคารพด้วยท่าตรง (ถ้ามีอาวุธสั่ง “กอง-ตรง วันทยา-วุธ”) ผู้อำนวยการฝึกทำวันทยหัตถ์ตอบ พิธีกรสั่ง “ตามระเบียบ-พัก” (ถ้ามีอาวุธสั่ง “เรียบ-อาวุธ ตามระเบียบ-พัก”)
๑๖. พิธีกรนัดหมาย แล้วสั่ง “กอง-ตรง, กอง-แยก”
คุณประโยชน์ของการชักธงชาติ
๑. เพื่อสร้างความรู้สึกนิยมและภาคภูมิใจในความเป็นชาติ อีกทั้งเป็นการเผยแพร่ธงชาติให้เป็นที่ปรากฏ เป็นการแสดงออกถึงความรักชาติ บ้านเมือง ซึ่งเป็นสถาบันหลัก
๒. เพื่อเป็นการแสดงถึงความจงรักภักดี ต่อชาติ ศาสนา และสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อันนำไปสู่ความสามัคคีและความมั่นคงเข้มแข็งแก่ชาติ
๓. เพื่อสร้างจิตสำนึกและกระบวนการเรียนรู้ในการฝึกอบรมลูกเสือให้เป็นผู้มีระเบียบวินัย มีคุณธรรม จริยธรรม ปฏิบัติตนตามคำปฏิญาณและกฎของลูกเสือ
ที่มา : สารานุกรมลูกเสือ ๑๐๐ ปี ลูกเสือไทย เล่มที่ ๒
แผนกกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน
ฝ่ายการศึกษา อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ
www.edbathai.com
.........................................
คัดลอกLinkเพื่อแชร์ : https://bit.ly/3VN536K