จิตตาภิบาล : เอกลักษณ์ของการศึกษาคาทอลิก อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ
แนวคิดทางการอภิบาลของพระศาสนจักร
จิตตาภิบาล เดิมเรียกว่า งานอภิบาลดูแลคริสตชนเฉพาะกลุ่ม ซึ่งพระศาสนจักรจะแต่งตั้งพระสงฆ์หรือศาสนบริการให้ทำหน้าที่นี้โดยเฉพาะ เรียกว่า "จิตตาธิการ" เช่น จิตตาธิการในกองทหาร หรือ จิตตาธิการอารามนักบวช ฯลฯ
ต่อมา ภารกิจด้านการอภิบาลสัตบุรุษ เริ่มมีงานเฉพาะด้านเพิ่มมากขึ้น เช่น งานอภิบาลเยาวชน งานกลุ่มกิจการคาทอลิก ได้แก่ คณะพลมารี คณะวินเซนต์ เดอ ปอล คณะพลศีล จึงต้องการพระสงฆ์หรือผู้ทำหน้าที่จิตตาธิการ เพื่อเป็นผู้กำกับจิตตารมณ์และคำสอนของพระศาสนจักรในขบวนการคาทอลิกนั้น ๆ เป็นที่ปรึกษาและให้คำแนะนำ และผู้ตัดสินหรือชี้ขาดเกี่ยวกับหลักธรรมหรือเทวศาสตร์ สัจธรรม เพื่อให้สมาชิกได้เข้าใจและสามารถปฏิบัติตนได้อย่างถูกต้อง
ปัจจุบัน สถานศึกษามีความต้องการรบุคลากรของพระศาสนจักรทำหน้าที่ "จิตตาธิการ" ประจำสถานศึกษา เป็นที่ปรึกษาในการตัดสินปัญหาอันเกี่ยวเนื่องหลักธรรมคำสอนและจิตตารมณ์ของพระศาสนจักร กับสถานการณ์ทางสังคมที่มีความแตกต่าง หลากหลาย และได้รับอิทธิพลทางอารยธรรมและศีลธรรมที่หลงไปกับกระแส "วัตถุนิยม บริโภคนิยม และปัจเจกนิยม" โดยละเลยคุณค่าและศักดิ์ศรีของมนุษย์และสังคม แต่ด้วยอิทธิพลของงานอภิบาลสัตบุรุษ และมุ่งแนวคิดด้านความเอาใจใส่ หรือความเป็นบิดา มากกว่าการเป็นนักปกครอง จึงนิยมเรียก "จิตตาภิบาล"
หลักการ
การจัดการศึกษาคาทอลิกเพื่อพัฒนาสังคมไทย เป็นภารกิจบริการและรับใช้ประชาชนคนไทย เพื่อพัฒนาเยาวชนและผู้ใหญ่ให้มีการศึกษาที่ดี จะได้สามารถตระหนักในศักดิ์ศรีและคุณค่าแห่งความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ และมีศักยภาพ ความสามารถในการทำหน้าที่ของตนและการทำงานเพื่อสังคมด้วยความรับผิดชอบและสร้างสรรค์ให้เจริญก้าวหน้า เป็นสังคมแห่งความรักใคร่ปรองดอง สมานฉันท์ และอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข ในบริบททางสังคม การสืบสานภูมิปัญญาและวัฒนธรรมไทย
บทบาทและหน้าที่ของพระศาสนจักร จึงต้องเป็น
1. เมล็ดพันธุ์ แห่งพระอาณาจักรพระเจ้า เป็นแหล่งภูมิปัญญาและหลักอ้างอิง
2. เครื่องหมาย ของพระอาณาจักรพระเจ้า ด้วยการเป็นประจักษ์พยาน
3. เครื่องมือ ในความพยายามร่วมสร้างพระอาณาจักรพระเจ้าในทุกมิติของชีวิตมนุษย์
- - -
ที่มาของข้อมูล :
คู่มือแนวทางการพัฒนางานจิตตาภิบาลของโรงเรียนในอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ (ฉบับปฏิบัติการขั้นต้น)
จัดทำโดย ฝ่ายการศึกษา อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ
ส่วนที่ 1 แนวคิด ปรัชญา และแนวนโยบาย หน้า 19 - 20
โดย บาทหลวง ดร.วิวัฒน์ แพร่สิริ