จิตตาภิบาล : เอกลักษณ์ของการศึกษาคาทอลิก อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ
การจัดการศึกษาหรือพันธกิจของโรงเรียนคาทอลิก
จะต้องพิจารณาประเด็นสำคัญ ๆ ดังต่อไปนี้
1. โรงเรียนคาทอลิกและพันธกิจของพระศาสนจักร
องค์ประกอบหลักของโรงเรียนคาทอลิก คือ การอบรมคนและการประสานพัฒนาการทุกอย่างเข้าด้วยกัน ซึ่งรวมแต่ละบุคคลให้มามีความใกล้ชิดกับพระเจ้ามากยิ่งขึ้น ในเวลาเดียวกัน สิ่งนี้ไม่เพียงแต่ส่งผลต่อพฤติกรรมส่วนตัวเท่านั้น แต่ยังมีผลต่อเนื่องไปยังการเป็นที่น่าเชื่อถือถึงพระหรรษทานของพระเจ้าที่อยู่ภายในอีกด้วย คนทั่วไปสามารถสัมผัสรู้ถึงการเป็นพยาน และสัมผัสว่าแบบอย่างนั้นเปลี่ยนแปลงพวกเขา และส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงสังคมและโลกของเราในที่สุด (วิสัยทัศน์ของสภาพระสมณะ เกี่ยวกับโรงเรียนคาทอลิก)
พันธกิจของพระศาสนจักร คือ การเผยแพร่พระวรสารเพื่อการเปลี่ยนแปลงและการฟื้นฟูมนุษยชาติจากภายใน คุณลักษณะพิเศษของโรงเรียนคาทอลิกและเหตุผลเบื้องหลังของการมีอยู่ของโรงเรียน คือ การบูรณาการคำสอนทางศาสนาเข้ากับการศึกษาทั้งสิ้นของนักเรียน (มิติด้านศาสนาของการศึกษาในโรงเรียนคาทอลิก ข้อ 66)
กระบวนการศึกษาอบรมแบบคริสต์ อาจหมายถึงองค์ประกอบชุดหนึ่งที่สัมพันธ์กันอย่างเป็นเอกภาพ ซึ่งมีจุดมุ่งหมายเดียวคือการพัฒนาความสามารถแต่ละด้านของนักเรียนแต่ละคนอย่างเป็นลำดับขั้นตอน ที่ทำให้แต่ละคนได้รับการศึกษาอบรมเชิงบูรณาการแบบครบองค์ภายในบริบทของการศึกษา คือมิติด้านศาสนาคริสต์และการตระหนักถึงพระพรของพระเจ้าที่มีต่อมนุษย์ แต่สิ่งสำคัญจริง ๆ นั้น ไม่ใช่คำพูดที่สอน แต่เป็นความจริงที่ยืนยันวาครูทุกคนได้ผูกผสานผลการศึกษาเรียนรู้ให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว
2. การทำงานของโรงเรียนคาทอลิกที่มีประสิทธิผล
โรงเรียนคาทอลิกที่มีประสิทธิผล จะจัดระบบการศึกษาและกระบวนการเรียนการสอนนั้น อย่างน้อยจะมีลักษณะเฉพาะ 4 ประการ (Anthony Bryk : 1993) ดังนี้
1) แผนการเรียนการสอนที่มีแก่น/จุดศูนย์รวม
แกนหลักสูตรและแผนการสอนจะต้องเป็นลักษณะมุมมองเชิงรุก (Proactive) ของครูและผู้บริหาร เกี่ยวกับสิ่งที่นักเรียนสามารถเรียนรู้และควรเรียนรู้ โดยพิจารณาคำนึงถึงภูมิหลังของนักรเรียนและแผนการศึกษาอนาคต ที่คัดเลือกเนื้อหาบทเรียนและปริมาณที่พอเหมาะ
2) การจัดโครงสร้างหลักสูตร
โครงสร้างของหลักสูตรจะมีลักษณะ 3 ประการ คือ
2.1) กลุ่มกิจกรรมต้องมีลักษณะกว้างและครอบคลุมพัฒนาการต่าง ๆ ของชีวิต ทั้งด้านสติปัญญา ร่างกาย อารมณ์ จิตใจ และสังคม เช่น การฟื้นฟูจิตใจ การร่วมพิธีกรรม / ศาสนกิจ กีฬา การฉลองประจำปี โครงการด้านวรรณกรรม ดนตรี ศิลปวัฒนธรรม ซึ่งเป็นการเตรียมโอกาสมากมาย เพื่อให้นักเรียนได้เรียนรู้ / ปฏิสัมพันธ์แบบใกล้ชิด และการแบ่งปันประสบการณ์ระหว่างผู้ใหญ่กับนักเรียน เป็นโอกาสที่ทำให้ความผูกพันระหว่างสมาชิกของโรงเรียนมีความลึกซึ้งมากขึ้น และสร้างความสัมพันธ์กับนักเรียนรุ่นพี่กับรุ่นน้อง โดยกิจกรรมดังกล่าวไดด้รับการเอื้ออำนวยจากการสร้างแผนการเรียนการสอนข้างต้น
2.2) มีการจัดองค์กรอย่างเป็นกิจลักษณะเพื่อสร้างหมู่คณะ สิ่งสำคัญที่สุดคือ บทบาทของครูชมรม ซึ่งทำให้นักเรียนกับครูสามารถพบปะกันตามทางเดิน ในสนามเล่น ห้องอาหาร ในละแวกโรงเรียน และบางครั้งที่บ้าน ปฏิสัมพันธ์ระดับบุคคลจำนวนมากซึ่งเกิดขึ้นระหว่างผู้ใหญ่กับเด็กนอกห้องเรียน องค์ประชุมระหว่างครูก็มีความสำคัญเช่นกัน ครูอาจารย์ของโรงเรียนคาทอลิกใช้เวลาอยู่ด้วยกันทั้งในและนอกโรงเรียน ปฏิสัมพันธ์ทางสังคมระหว่างกันเหล่านี้จะเป็นจุดประสานการแก้ปัญหาของโรงเรียน และมีส่วนช่วยสร้างความสมานฉันท์ระหว่างผู้ใหญ่ขึ้น รอบ ๆ ภารกิจของโรงเรียน ในบริบทดังกล่าว การตัดสินใจใด ๆ ของโรงเรียนมีแนวโน้มว่ามีความขัดแย้งน้อยลง และบ่อยครั้งจะมีลักษณะของความไว้วางใจและการให้ความเคารพต่อกัน
2.3) หลักสูตรมีลักษณะแนวคิด / ความเชื่อร่วมกันของผู้รับผิดชอบ ครูและผู้เรียน เกี่ยวกับสิ่งที่นักเรียนควรจะเรียน เกี่ยวกับเกณฑ์การสอนที่เหมาะสม และเกี่ยวกับวิธีการสัมพันธ์กับคนทั่วไป สิ่งที่เชื่อมร้อยปรัชญาการศึกษาในโรงเรียนคาทอลิกคือ ความเชื่อถือด้านศีลธรรมเกี่ยวกับบุคคล สังคม วัฒนธรรม และบทบาทของโรงเรียนต่อการส่งเสริมความยุติธรรมทางสังคม
ดังนั้น การจัดองค์กรทางสังคมระดับพื้นฐานของโรงเรียน ในฐานะเป็นกลุ่มคนจึงมีผลที่ตามมาต่อบุคคลและสังคมสำหรับทั้งครูและนักเรียน
3) อุดมการณ์ที่เป็นแรงบันดาลใจ
ความคิดสำคัญ 2 ประการที่เป็นแรงจูงใจหรือบันดาลใจสำคัญอันเป็นคุณค่าต่อการเรียนรู้ คือ บุคคลนิยมและการอยู่ใต้บังคับบัญชา ซึ่งจะเป็นตัวปั้นแต่งชีวิตในโรงเรียนคาทอลิก
บุคคลนิยม คือ สิ่งที่เรียกร้องความเป็นมนุษย์ในปฏิสัมพันธ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น และประกอบเป็นชีวิตประจำวัน กุญแจสู่การมุ่งไปสู่บุคคลนิยม คือ บทบาทของครูที่ขยายตัวออกไปในการให้ความสนใจเกี่ยวกับประเภทของบุคคลของนักเรียน เหมือนกับข้อเท็จจริง ทักษะและความรู้ที่พวกเขาต้องการ ยิ่งไปกว่านั้น บุคคลนิยมยังเป็นบรรทัดฐานร่วมของโรงเรียน คือแบบพฤติกรรมของครูและการกลายเป็นอุดมคติของนักเรียน
การมอบหมายงานที่ต้องพิจารณาความชำนาญเฉพาะด้านและประสิทธิผล ต้องกระทำผ่านการเคารพใส่ใจต่อศักดิ์ศรีของมนุษย์ของผู้อยู่ใต้บังคับบัญชา มิใช่มุ่งเพียงผลประโยชน์ของงานเฉพาะด้านและแสดงความสามารถสร้างกระบวนการองค์กรในการจัดการงานที่ซับซ้อน และในทำนองเดียวกันผู้ใต้บังคับบัญชาต้องยอมรับบทบาทและภารกิจที่ต้องให้ความร่วมมือและรับผิดชอบต่อหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย และนักรเรียนที่อยู่ในความรับผิดชอบ
4) การปกครองแบบกระจายอำนาจ
การกระจายอำนาจการปกครองมิใช่เพียงเป็นทางเลือกที่มีประสิทธิภาพมากกว่า หรือการสร้างองค์กรที่ทำให้ผู้ร่วมงานมีความไวต่อการรับรู้ แต่ที่ถูกต้องคือ การกระจายอำนาจได้รับการยืนยันทัศนะว่า ศักดิ์ศรีและความเคารพต่อความเป็นมนุษย์จะได้รับการปฏิบัติได้ดี เมื่องานถูกจัดไว้โดยคิดถึงหมู่คณะเล็ก ๆ ซึ่งมีการเสวนาและการทำงานแบบเป็นหมู่คณะ ที่แก่นของความเชื่อถือนี้คือ ศักยภาพทั้งหมดของบุคคลทั้งหลาย จะเป็นที่ยอมรับนับถือในการรวมกลุ่มเป็นอันหนึ่งเดียวกันทางสังคม ซึ่งสามารถสร้างขึ้นได้เฉพาะในความสัมพันธ์สมาคมของกลุ่มเล็ก ๆ
3. การศึกษาคาทอลิก การบริหาร และการพัฒนานักเรียน
หลักการศาสนาคาทอลิก มีคุณลักษณะเฉพาะในระดับต่าง ๆ เหมือนกับประเพณีคริสต์อื่น ๆ แต่สิ่งที่ทำให้มีความเป็นคาทอลิก คือ การรวมตัวเข้าด้วยกันและการจัดภาพ / โครงสร้างประกอบเป็นหนึ่งเดียวกัน / เอกลักษณ์ชัดเจน คือคุณลักษณะที่มีพื้นฐานอยู่บนความเข้าใจของคาทอลิกเกี่ยวกับพระเจ้าและความเป็นอยู่ของมนุษย์ ดังนี้คือ
1) ความเข้าใจการเป็นบุคคลในแง่ดี (Anthoropology of the person)
2) การเป็นเครื่องหมายถึงพระเจ้าของชีวิต
3) การเน้นที่การอยู่ร่วมกันเป็นหมู่คณะของความเป็นอยู่ของมนุษย์และคริสตชน
4) การยึดถือประเพณี วัฒนธรรม เป็นแหล่งที่มาของประวัติศาสตร์และวิสัยทัศน์
5) การให้คุณค่าความมีเหตุผลและการเรียนรู้ โดยถือเป็นหน้าที่ที่จะให้การศึกษาอบรม
แต่สิ่งที่อยู่เหนือและแทรกอยู่ทั่วทุกคุณลักษณะทางเทววิทยา คือ การถือเป็นพันธะหน้าที่หลักอีก 3 ประการ ซึ่งกระจายทั่วและผูกโยง 5 ลักษณะข้างต้นไว้ด้วยกัน คือ
1. การอุทิศตนผูกพันของหลักการคาทอลิกต่อการเป็นบุคคลของคนทั่วไป ต่อการเป็นอย่างที่ควรจะเป็น และจริยธรรมของชีวิตของพวกเขา คือความใส่ใจด้านอภิปรัชญา
2. การอุทิศตนผูกพันของหลักการคาทอลิกต่อ "ความยุติธรรมพื้นฐาน" หรือความใส่ใจเชิงสังคมวิทยา
3. การอุทิศตนผูกพันของหลักการคาทอลิกต่อ "ความเป็นคาทอลิก" ในความหมายของการเป็นสากลและสำหรับทุกคน หรือความใส่ใจเชิงการเปิดกว้างต่อทุกคน
ความเข้าใจเกี่ยวกับมนุษย์ : ในฉายาลักษณ์และความเหมือนของพระเจ้า
แก่นความเข้าใจเกี่ยวกับมนุษย์ของคาทอลิก ตามความเข้าใจทางเทววิทยาเกี่ยวกับสภาพของการเป็นมนุษย์ เป็นความเข้าใจเกี่ยวกับความเป็นจริง แต่ในเวลาเดียวกันก็เป็นการมองโลกในแง่ดีว่า แม้มนุษย์สามารถทำบาปได้ แต่โดยธรรมชาติแล้ว มนุษย์เป็นคนดี ซึ่งเน้นย้ำถึงธรรมชาติสัมพันธ์และพระพรรวมของความเป็นมนุษย์ ความเข้าใจเกี่ยวกับมนุษย์ของคาทอลิกดังกล่าว เรียกร้องให้หลักสูตรทั้งหมด เนื้อหาสาระ การะบวนการและสภาพแวดล้อม ต้องสะท้อนให้เห็นและส่งเสริมการยอมรับพันธะหน้าที่ 3 ประการเป็นอย่างน้อย คือ
1. ยืนยันความดีพื้นฐานของนักเรียน
2. การให้การศึกษาอบรมแก่คนทั่วไป ให้มีชีวิตอย่างรับผิดชอบ โดยอาศัยความช่วยเหลือของพระเจ้า
3. การให้ความเชื่อมั่นและหล่อหลอมประะชาชนทั่วไปให้ดำเนินชีวิตสมกับคุณค่าของตัวเองและความสำคัญเชิงประวัติศาสตร์ ในฐานะผู้สร้างประวัติศาสตร์
การเป็นเครื่องหมายถึงพระเจ้า : เห็นพระเจ้าในทุกสิ่ง
หลักการศาสนาคาทอลิก มีมุมมองโลกแบบเดียวกับมุมมองเกี่ยวกับมนุษย์ คือ สิ่งสร้างทั้งปวงล้วนเป็นสิ่งดีแท้จริง (โดยเนื้อแท้) ความเข้าใจเกี่ยวกับจักรภพดังนี้เป็นการสนับสนุนหลักการของการเป็นเครื่องหมายถึงพระเจ้าของสิ่งสร้างทั้งหลายทั้งปวง และการศึกษาเป็นการสร้างความสำนึกนี้ หมายถึงการสนับสนุนให้นักเรียนรู้จักใช้วิจารณาณและความคิดสร้างสรรค์ของสติปัญญาของพวกเขา เพื่อจับตามองชีวิต จนสามารถมองผ่าน "โดยทาง" ชีวิตได้
หมู่คณะหรือการอยู่ร่วมกันเป็นสังคม : ปัจจัยที่สร้างขึ้นเพื่อกันและกัน
หลักการศาสนาคาทอลิก เน้นอย่างหนักแน่นกับธรรมชาติของการอยู่ร่วมกันของมนุษย์ คือเราจะพบเอกลักษณ์และตัวเองแท้จริงในความสัมพันธ์กับผู้อื่น กับการเน้นที่ความรับผิดชอบทางสังคมและศาสนจักรโดยการกระทำเพื่อ "ความดีส่วนรวม"
สภาพแวดล้อมของโรงเรียนคาทอลิก จำเป็นต้องสะท้อนให้เห็นการอยู่ร่วมกัน ไม่ใช่เพียงอุดมการณ์ แต่จะต้องเป็นคุณค่าที่เป็นสิ่งปฏิบัติจริง นักเรียนและอาจารย์จะรู้สึกอิสระที่จะเป็นตัวเองในแบบที่ดีที่สุด และแสวงหาความรู้และความจริงในที่ที่พบได้ ที่โรงเรียนที่พยายามเป็นหมู่คณะของการต้อนรับและไมตรีจิตที่มีให้กับทุกคน เป็นการให้ความเอาใจใส่ที่ลึกซึ้งท่ามกลางและระหว่างครู ผู้บริหาร พนักงาน และนักเรียน และต่อหมู่คณะที่ขยายวงกว้างออกไปจนถึงผู้ปกครอง ศิษย์เก่าและวัด / ท้องถิ่น ชุมชน
ประเพณี : แบ่งปัน "ความเป็นมาและวิสัยทัศน์"
สังคายนาวาติกันที่ 2 ยืนยันว่า การศึกษาคาทอลิก "พยายามเชื่อมสัมพันธ์วัฒนธรรมทั้งมวลของมนุษย์เข้าด้วยกันกับข่าวดีแห่งความรอด (โรงเรียนคาทอลิก ข้อ 37) เพื่อว่าแสงสว่างของพระธรรมจะส่องสว่างให้แก่ความรู้ ซึ่งนักเรียนจะค่อย ๆ เรียนรู้ทีละขั้นตอนเกี่ยวกับโลก ชีวิต และมนุษย์
วิสัยทัศน์ของความเชื่อแบบคริสต์ มองว่า เรื่องราวความเป็นมา วัฒนธรรม และภูมิปัญญาท้องถิ่น มีความหมายสำหรับเรา แสดงวิถีการดำเนินชีวิตในทุกระดับฐานะ และเราจะต้องทำอย่างไรเพื่อตอบสนองต่อการทำให้มีสันติสุขของพระเจ้าเกิดขึ้นสมบูรณ์ ความเป็นมนุษย์ครบถ้วน ประวัติศาสตร์มีค่าและความหมาย และสิ่งสร้างทั้งปวงนำพระพรของพระ มาให้ทุกคนบนแผ่นดิน
ความมีเหตุผล : ความเชื่อที่แสวงหาความเข้าใจ
การศึกษาคาทอลิก ควรเตรียมและฝึกนักเรียนให้รู้จักคิดด้วยตัวเอง ส่งเสริมนักเรียนให้มีความสนใจกับความเป็นจริงทางประวัติศาสตร์ของตนเอง และรู้จักใช้ความรู้และปรีชาญาณที่สั่งสมอยู่ในศาสตร์ของการเรียนรู้ทุกแขนงวิชา เพื่อทำความเข้าใจกับชีวิตของพวกเขาด้วยตัวเอง ที่จะทำการตัดสินใจด้วยความรู้และการเสวนากับผู้อื่น อย่างมีเหตุผลและศีลธรรมอันดี
การเป็นบุคคล : ความใส่ใจเชิงอภิปรัชญา
การศึกษาคาทอลิก มีเป้าหมายไม่เพียงแต่มีอิทธิพลต่อสิ่งที่นักเรียนรู้และสามารถกระทำ แต่กับประเภทของคนที่เขาต้องการเป็นด้วย เป็นข้อสังเกตว่า การศึกษาสมัยใหม่เป็นอันมากต้องตกเป็นเหยื่อของญาณวิทยา ซึ่งแยก "การรู้" ของคนออกจาก "การเป็น" เป็นการลดทอนความรู้ให้เป็นเพียงความเข้าใจทางเทคนิค หรือ "การเรียนรู้วิธี" เพื่อการผลิต และคิดเอาเองว่าความรู้เป็น "สิ่งแท้จริงในตัวมันเอง" และ "ปลอดค่านิยม" เหมือนหนึ่งว่าไม่มีความเกี่ยวข้องกับคนในฐานะเป็น "บุคคล" หรือมีอิทธิพลต่อจริยธรรมของพวกเขา
ความยุติธรรม : ความใส่ใจด้านสังคมวิทยา
ความยุติธรรม เป็นคำสอนหลักของความเชื่อคาทอลิก และเป็นสิ่งที่ซึมซาบอยู่ในเรื่องความเข้าใจมนุษย์ของการศึกษาคาทอลิก เพราะเน้นการปฏิบัติต่อนักเรียนโดยเคารพต่อศักดิ์ศรีของพวกเขา และเตรียมพวกเขาให้รู้จัก เคารพและส่งเสริมสิทธิมนุษยชนของทุกคน และความยุติธรรมยังเป็นสิ่งสะท้อนให้เห็นในความเข้าใจเกี่ยวกับการเป็นเครื่องหมายของพระเจ้า ในการกระตุ้นให้เห็นและตอบสนองต่อคนยากจนและคนที่ถูกกดขี่ของสังคม และสอนให้คิดหาวิธีเปลี่ยนโครงสร้างที่ไม่เป็นธรรมและหลักทางวัฒนธรรมที่กดขี่ประชาชน ความยุติธรรมเป็นคำสอนในฐานะที่กลุ่มชนโรงเรียนเน้นความสัมพันธ์ที่ถูกต้อง และอบรมสอนนักเรียนให้รับผิดชอบต่อความดีส่วนรวม ประเพณีโรงเรียนสร้างความยุติธรรม เมื่อครูชี้เน้นให้เห็นพระราชกิจแห่งการปลดปล่อยของพระเจ้า และเสนอวิสัยทัศน์แห่งอาณาจักรของพระเจ้า คือสันติสุขและความครบถ้วนของชีวิตเพื่อผู้อื่น และความยุติธรรมซึมซับอยู่ในคำสอนความเป็นเหตุผล ที่ส่งเสริมนักเรียนให้มีสติอย่างมีวิจารณญาณ ด้วยความสนใจปฏิบัติตนตามความจริง และกระทำสิ่งที่ดี
ความเป็นคาทอลิก : ความใส่ใจที่เปิดรับทุกคน
ความเป็นคาทอลิก ต้องท้าทายให้คาทอลิกกลับเป็นหมู่คณะที่เป็นกลุ่มคนที่เปิดรับทุกคนด้วยอัธยาศัยไมตรีและใจกว้าง เป็นข้อผูกพันที่ต้องแผ่อยู่ทั่วการศึกษาคาทอลิก
ความเป็นคาทอลิก ได้สะท้อนให้เห็นในความเข้าใจเกี่ยวกับมนุษย์ของการศึกษาคาทอลิก เมื่อหลักสูตรยืนยันถึงคุณค่าของคนทุกคน และการใช้พรสวรรค์ทั้งหมดของชายและหญิงในวิถีแบบองค์รวม ความเข้าใจเกี่ยวกับการเป็นเครื่องหมายถึงพระเจ้าเป็นความใส่ใจด้านความเป็นคาทอลิก เมื่อส่งเสริมคนให้เห็นคุณค่าของเอกภาพและความเป็นหมู่คณะ เมื่อโรงเรียนต้องเป็นสถานที่ให้การต้อนรับและเปิดสำหรับทุกคน และอบรมสอนว่ามนุษย์ทุกคนเป็นเพื่อนบ้านพี่น้องกันอย่างไม่มีขอบเขต ประเพณีปฏิบัติเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดความเชื่อมั่นถึงความจริงที่ว่า พระเจ้าประทับอยู่ใกล้เพื่อไถ่กู้และรักมนุษย์ทุกคน และความเป็นเหตุผลเป็นความใส่ใจของความเป็นคาทอลิกที่เปิดใจคนรับความจริง ในทุกสถานการณ์
4. ความเป็นผู้นำในโรงเรียนคาทอลิก
โรงเรียนคาทอลิก จะต้องผลิตหนุ่มสาว ผู้เต็มใจและสามารถเป็นผู้นำ ผู้ต้องการเข้ามารับบทบาทของการเป็นผู้นำในทุกแห่งของสังคม ผู้ได้รับการเตรียมพร้อมสำหรับการทำบทบาทดังกล่าวและรู้สึกเป็นข้อผูกมัดที่จะนำความเชื่อทางศาสนา และศีลธรรมดีงามสำหรับประชาชน เพราะเป็นไปไม่ได้ที่จะแยกความเชื่อ ศาสนาออกจากคุณค่าของการบริการสาธารณะและองค์กรของพวกเขา เช่นเดียวกัน ความเป็นผู้นำจะต้องเป็นบทบาทของนักการศึกษาและผู้ให้การศึกษาที่จะเป็นหลักและอยู่เคียงข้างประชาชนและศิษย์ทุกคน
กล่าวโดยสรุป กระบวนการจัดการศึกษาคาทอลิก จะต้องแสดงลักษณะเด่นชัด (Unique) ที่แสดงให้เห็นในลักษณะทัั้งองค์รวม และส่วนย่อยที่ประกอบกัน เข้ากันอย่างเป็นระบบและเป็นเชิงระบบ แสดงให้เห็นความสอดคล้องกลมกลืนกันของความเชื่อและความศรัทธาต่อพระเจ้ากับการจัดการศึกษา และพัฒนาชีวิตมนุษย์ที่เต็มเปี่ยมด้วยคุณค่า ศักดิ์ศรี และความรับผิดชอบ ทั้งต่อชีวิตตนเองและสังคมอย่างเหมาะสมกับบริบททางสังคม หรือวัฒนธรรมที่ดีงาม
- - -
ที่มาของข้อมูล :
คู่มือแนวทางการพัฒนางานจิตตาภิบาลของโรงเรียนในอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ (ฉบับปฏิบัติการขั้นต้น)
จัดทำโดย ฝ่ายการศึกษา อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ
ส่วนที่ 1 แนวคิด ปรัชญา และแนวนโยบาย หน้า 21 - 26
โดย บาทหลวง ดร.วิวัฒน์ แพร่สิริ