(ภาพ : https://hellokhunmor.com)
น่าแปลกใจเหลือเกิน
ลูกเราอยู่บ้านเรียบร้อย อยู่โรงเรียนกลับแสนซน
ลูกเราอยู่บ้านขี้อายเก็บตัว อยู่โรงเรียนกล้าแสดงออก
ลูกเราอยู่บ้านงอแง อยู่โรงเรียนกลับเป็นเด็กดีตัวอย่าง
แบบนี้...ลูกเรามีปัญหาหรือเปล่านะ ?
เมื่อลูกเป็นเด็ก 2 บุคลิก
มีคุณพ่อคุณแม่หลายครอบครัวสุดแสนจะกลุ้มใจ เมื่อลูกน้อยกลอยใจของเราอยู่บ้านกับโรงเรียนมีบุคลิกแตกต่างกันเสียจริง สิ่งที่เกิดขึ้นในหลาย ๆ ครอบครัว มักจะเป็นว่า เวลาอยู่ที่บ้านให้ลูกเก็บของเล่น อาบน้ำ กินข้าว ทำตามคำสั่งแต่ละอย่างดูจะยากเย็นเสียเหลือเกิน แต่พอไปอยู่โรงเรียน คุณครูกลับบอกว่าลูก ๆ ของเราทำได้ทุกอย่าง ไม่มีปัญหา
เหตุผลเรื่องนี้คืออะไร ? ลองมาตั้งคำถามและหาคำตอบกันสักหน่อยดีกว่า
พื้นที่แห่งความไว้ใจและการรับฟัง
ความจริงแล้วเรื่องนี้อาจมีหลายเหตุผล หลายบริบทที่แตกต่างที่คุณพ่อคุณแม่ต้องสังเกต เด็กแต่ละคนอาจมีเหตุผลของพฤติกรรมที่แตกต่างกันออกไป แต่สาเหตุหนึ่งที่มักเกิดขึ้นบ่อย ๆ ก็คือ ความแตกต่างระหว่างเงื่อนไขของการแสดงออก พื้นที่แห่งความไว้ใจและการรับฟังที่แตกต่างระหว่างบ้านกับโรงเรียน
หากลูกอยู่บ้านไม่ค่อยพูด แต่ไปกล้าแสดงออกที่โรงเรียน บางทีคุณพ่อคุณแม่อาจต้องทบทวนถึงสัมพันธภาพในครอบครัวระหว่างกัน คุณกอดลูก ทำกิจกรรม พูดคุย รับฟังลูกอย่างตั้งใจครั้งสุดท้ายเมื่อไร ?
หากลูกสุดแสนจะงอแงไร้ระเบียบที่บ้าน แต่กลับทำทุกอย่างได้เรียบร้อยที่โรงเรียน บางทีเราอาจจะต้องทบทวนว่า เมื่ออยู่ที่บ้าน เราเคยฝึกวินัยลูกในเชิงบวกอย่างจริงจังหรือไม่ ? เรามักตัดปัญหาความวุ่นวายและปัญหาทางอารมณ์ด้วยการช่วยทำทุกอย่างแทนลูกหรือเปล่า ?
แน่นอนค่ะ ถ้าเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้น ไม่ใช่แค่คุณพ่อคุณแม่ที่ไม่สบายใจ แต่ลึก ๆ ลงไปในใจของเด็ก ๆ ก็คงมีความขัดข้อง ไม่สบายใจอยู่ด้วยเช่นเดียวกัน เรามาช่วยเด็ก ๆ ของเราในเรื่องนี้กันดีกว่าค่ะ
อยากชวนคุณพ่อคุณแม่มาสร้าง “พื้นที่แห่งความไว้ใจ” และ “พื้นที่แห่งการรับฟัง” ให้เกิดขึ้นในครอบครัวของเรา ทั้ง 2 พื้นที่นี้ ไม่จำเป็นต้องอาศัยการซื้อหาอะไรให้เปลืองสตางค์เลย เพียงแต่อาศัยความรักและกำลังใจจากคุณพ่อคุณแม่มอบให้กับเด็ก ๆ อย่างสม่ำเสมอเท่านั้นเอง
พื้นที่แห่งความไว้ใจ เกิดขึ้นได้จากการทำกิจกรรมร่วมกับลูกอย่างสม่ำเสมอ สบตา ยิ้ม กอด กล่าวชื่นชมลูกเมื่อลูกทำสิ่งที่ดี ไม่เอาแต่คอยจับผิด ต่อว่าในสิ่งที่ลูกทำพลาด แต่ให้กำลังใจและแสดงออกให้ลูกรู้ว่าพ่อแม่พร้อมที่จะสนับสนุนและอยู่ข้างลูกเสมอ
พื้นที่แห่งการรับฟัง เกิดขึ้นได้เมื่อคุณพ่อคุณแม่ตั้งใจรับฟังลูกด้วยใจ ไม่ใช่เพียงแค่หู ทุกครั้งที่ลูกพูดตั้งใจฟังเขาค่ะ อย่าเพิ่งตัดสินผิดถูก เปิดพื้นที่เปิดโอกาสให้เขาได้กล้าพูด กล้าแสดงความคิดเห็นในแบบที่เขารู้สึก แบบที่เขาเป็นจริง ๆ เมื่อเด็กสัมผัสได้ว่าพ่อแม่ตั้งใจฟังเขาจริง ๆ เขาจะรู้สึกว่าตัวเขามีคุณค่า มีความสำคัญและเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวอย่างแท้จริง
ทั้งพื้นที่แห่งความไว้ใจและพื้นที่แห่งการรับฟัง เป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยสร้างภูมิดีให้กับเด็ก ให้เขากล้าที่จะพูด คิด แสดงออกในสิ่งที่ดี แสดงออกในสิ่งที่ตัวเขาเป็น ในทุกพื้นที่ (ไม่ว่าจะที่บ้านหรือที่โรงเรียน) ด้วยความรู้สึกมั่นใจและภาคภูมิใจในความเป็นตัวของตัวเองได้อย่างแท้จริง
IDEAS & TIPS
เปลี่ยนตัวเองเป็นพ่อแม่ที่ลูกไว้วางใจ
- รู้จักข้อดี จุดเด่นของลูก
- ยอมรับ ชื่นชมลูกในแบบที่เขาเป็น
- รับฟัง พูดคุยอย่างมีสติ ไม่ใช้อารมณ์
- ไม่โกหก รักษาสัญญา
- มีกิจกรรมร่วมกันสม่ำเสมอ
- แสดงออกให้รู้ว่า พ่อแม้ไว้ใจลูกเสมอ
ที่มาของข้อมูล : 10 Checklist เลี้ยงลูกให้มี “สุข” ฉบับ วัยเรียน (6-12ปี) สุขด้วยปัญญา เก่ง ดี มีสุข เล่ม 3 (หน้า 40-45)
Link เพื่อแชร์ >> https://bit.ly/3mZqoeA
แผนกปฐมวัย
ฝ่ายการศึกษา อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ
adminmam