มารู้จักแนวทางการจัดประสบการณ์
การเรียนรู้แบบมอนเตสซอรี่ (Montessori Approach)
ความเป็นมา
มอนเตสซอรี่เป็นแนวทางการศึกษาหนึ่งที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ ให้ความสำคัญกับศักยภาพของแต่ละบุคคล พัฒนาเด็กอย่างเป็นองค์รวมทั้งทางด้านสติปัญญา ร่างกายจิตใจ อารมณ์ สังคม และจิตวิญญาณ ซึ่งแนวคิดดังกล่าวเริ่มต้นโดย แพทย์หญิงมาเรีย มอนเตสซอรี่ แพทย์ชาวอิตาเลียน วันที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2450 หรือ ค.ศ. 1907 เป็นวันเริ่มเปิดโรงเรียนแห่งแรกของแพทย์หญิงมาเรีย มอนเตสซอรี่ (Casa dei Bambini โดยมอนเตสซอรี่ช่วยเหลือในการจัดการศึกษาให้กับเด็กด้อยโอกาสกลุ่มหนึ่ง และโรงเรียนแห่งนี้ คือจุดเริ่มต้นของการศึกษาแบบมอนเตสซอรี่
มอนเตสซอรี่ สังเกตเด็กในสภาพที่เป็นจริงของเด็ก ไม่ใช่สภาพที่ผู้ใหญ่ต้องการให้เด็กเป็น จากการสังเกตเชิงวิทยาศาสตร์ ดังกล่าว จึงได้พัฒนาวิธีการสอน การจัดเตรียมสิ่งแวดล้อม และอุปกรณ์การสอนต่าง ๆขึ้นมา และนำแนวคิดนี้มาจัดการศึกษาให้กับเด็กอย่างจริงจังที่โรงเรียน Casa dei Bambini จนทำให้เกิดความเข้าใจตัวเด็ก และได้พัฒนาวิธีการสอนให้เกิดความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น วิธีการสอนแบบมอนเตสซอรี่ได้แพร่หลายไปทั่วโลกมาเป็นเวลา 100 กว่าปี จนถึงปัจจุบัน เนื่องจากการสอนแบบมอนเตสซอรี่สามารถนำไปใช้ได้กับเด็กทุกกลุ่มทุกยุค และทุกสมัย
(ภาพจาก https://montessori150.org/news/first-casa-dei-bambini)
แนวคิดการจัดประสบการณ์การเรียนรู้แบบมอนเตสซอรี่
การสอนแบบมอนเตสซอรี่ เป็นแนวคิดที่คำนึงถึงเด็กเป็นหลัก จัดการเรียนการสอนตามความสนใจ ความต้องการและการมุ่งมั่นตั้งใจในการเรียนรู้ด้วยตนเอง เด็กมีโอกาสแก้ไขข้อผิดพลาด นำข้อผิดพลาดดังกล่าวมาพิจารณา และวิเคราะห์เพื่อแสวงหาวิธีการที่ดีที่สุดจนเกิดการเรียนรู้ด้วยตนเองภายใต้ความมีอิสระ เด็กได้ใช้จิตของตนในการซึมซับสิ่งแวดล้อมรอบตัวเกิดความอยากรู้อยากเห็น และแสวงหาความรู้ด้วยตนเองจนเด็กเกิดการพัฒนาการทุก ๆ ด้าน การสอนแบบมอนเตสซอรี่สามารถพัฒนาเด็กตั้งแต่วัยทารกจนถึงระดับมัธยมศึกษาตอนปลายทุกกลุ่ม ทั้งเด็กที่มีความต้องการพิเศษ และเด็กปกติ
วิธีการสอนตามแนวคิดมอนเตสซอรี่ เริ่มจาก การสังเกตเด็ก ศึกษาพัฒนาการ ความต้องการ และความสนใจของเด็ก โดยคำนึงว่า...
1. เด็กทุกคนมีความแตกต่าง
2. เด็กมีความอยากรู้อยากเห็น และจะแสวงหา
3. ความรู้เกี่ยวกับสิ่งต่าง ๆ อยู่เสมอ
4. เด็กอยากทดลอง
5. เด็กอยากเรียนรู้กิจกรรมใหม่ ๆ
6. ความสนใจของเด็กเปลี่ยนแปลงไปตามอายุ และพัฒนาการ
หลักการจัดประสบการณ์การเรียนรู้แบบมอนเตสซอรี่
1. เด็กควรได้รับการยอมรับนับถือ (Respect for the Child) เด็กควรได้รับการยอมรับนับถือในสภาพที่แตกต่างไปจากผู้ใหญ่และได้รับการยอมรับว่าเด็กแต่ละคนมีลักษณะเฉพาะ และมีความแตกต่างกัน ดังนั้น ควรจัดการศึกษาให้เด็กแต่ละคนตามความสามารถ และความต้องการตามธรรมชาติของเขา โดยการพัฒนารูปแบบการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ให้สัมพันธ์กับพัฒนาการและความต้องการของเด็ก
2. เด็กมีจิตที่ซึมซับได้ (Absorbent Mind) จิตของเด็กเปรียบเหมือนฟองน้ำ และสามารถซึมซับข้อมูลต่าง ๆ จากสิ่งแวดล้อมรอบตัวเข้าไปในจิตของตนเองได้ กระบวนการนี้จะเห็นได้ชัดจากการที่เด็กสามารถซึมชับภาษาที่อยู่ในสภาพแวดล้อมของเด็กได้เองโดยไม่ต้องมีการสอนอย่างเป็นทางการ
3. ช่วงวิกฤติแห่งการเรียนรู้ (Sensitive Periods) เด็กในวัยปฐมวัยเป็นช่วงเวลาสำคัญสำหรับการเรียนรู้ โดยเด็กสามารถเรียนทักษะเฉพาะอย่างได้ดีในช่วงเวลาดังกล่าว ดังนั้น ครูจึงควรสังเกตเด็ก และใช้ประโยชน์จากช่วงเวลานี้ในการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ให้สอดคล้องกับช่วงวิกฤติแห่งการเรียนรู้ของเด็กแต่ละคน
4. การเตรียมสภาพแวดล้อม (Prepared Environment) เด็กเรียนรู้ได้ดีที่สุดในสภาพแวดล้อมที่ได้จัดเตรียมไว้อย่างมีจุดมุ่งหมาย และเปิดโอกาสให้เด็กมีอิสระในการทำกิจกรรมในสภาพแวดล้อมที่จัดเตรียมแล้วนั้น เด็กจะมีโอกาสทำกิจกรรมต่าง ๆ ตามความสนใจของตนเอง ซึ่งทำให้เด็กเกิดการเรียนรู้ในสิ่งที่ทำ
5. การศึกษาด้วยตนเอง (Self-Education) จากการมีอิสระในสิ่งแวดล้อมที่จัดเตรียมไว้แล้วอย่างสมบูรณ์เด็กสามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง และเรียนรู้ระเบียบวินัยของชีวิตผ่านการมีอิสรภาพในการทำงาน มีโอกาสแก้ไขข้อบกพร่องของตนเอง สามารถควบคุมการเคลื่อนไหวของตนเอง และมองเห็นความสามารถในการศึกษาหาความรู้ได้ด้วยตนเองภายใต้สถานการณ์ที่กำหนดให้ ซึ่งจะนำไปสู่ความมั่นใจในตนเอง ตลอดจนการให้ความร่วมมือในกิจกรรมต่าง ๆ ต่อไป
ที่มาของข้อมูล : แนวทางการจัดประสบการณ์การเรียนรู้แบบมอนเตสซอรี่ (Montessori Approach) สำนักนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัย สำนักเลขาธิการสภาการศึกษา (หน้า 1-7)
ลิงค์เพื่อแชร์ >> https://bit.ly/3E2vEXn
Facebook >> https://bit.ly/3jVOPvq
แผนกปฐมวัย
ฝ่ายการศึกษา อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ