ฝึกฝนให้ลูกเป็นเด็กขยันได้อย่างไร
ความขี้เกียจของเด็กอาจเป็นปัญหาที่คุณพ่อคุณแม่หนักอกหนักใจกันอยู่ไม่น้อย บางคนพบว่าลูกไม่ยอมทำอะไรเอาแต่นอนหรือเล่นเกม พอพูดก็ไม่เชื่อฟัง ถ้าหากปล่อยให้เป็นแบบนี้ต่อไปก็กังวลว่าลูกจะไม่ทันคนอื่น และพลาดโอกาสในการเรียนรู้ พัฒนาตัวเองในทางที่ดีได้ การฝึกลูกให้เป็นเด็กขยันจึงเป็นเรื่องสำคัญที่คุณพ่อคุณแม่ควรใส่ใจตั้งแต่ลูกยังเล็กๆ เรามีเทคนิคฝึกลูกให้เป็นเด็กขยัน อดทนมาฝาก
1.ให้เขาได้ทำสิ่งที่เขาอยากทำตั้งแต่เล็ก ๆ
เด็กในวัย3-4ขวบเป็นวัยที่เริ่มอยากทำอะไรเลียนแบบผู้ใหญ่ เด็กในวัยนี้จึงสนุกกับการทำนั่น ทำนี่ตามคุณพ่อคุณแม่ เช่น อยากทำงานบ้าน อยากทำกับข้าว ซักผ้า ล้างรถ รดน้ำต้นไม้ ฯลฯ จึงถือเป็นช่วงเวลาทองที่คุณพ่อคุณแม่จะฝึกความขยันให้กับลูก ในช่วงนี้คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรห้ามลูกทำสิ่งต่างๆ หรือไล่ลูกไปนั่งเฉย ๆ แต่ให้มอบหมายหน้าที่เล็กๆ น้อย ๆ ให้เขาได้ลองทำ เช่น ช่วยแม่ล้างผัก หรือเก็บของ เป็นต้น นอกจากลูกจะรู้สึก มีแรงบันดาลใจ คุ้นเคยกับการทำงานแล้ว ยังช่วยฝึกทักษะ พัฒนาการให้ลูกและสร้างความรู้สึกมีคุณค่าให้กับลูกด้วย
2. มอบหมายหน้าที่ของเขาอย่างเป็นระบบ
เมื่อลูกโตขึ้นคุณพ่อคุณแม่อาจมอบหมายหน้าที่บางอย่างในบ้าน ให้เป็นหน้าที่ของเขา เช่น ให้เขามีหน้าที่ จัดโต๊ะ อาหาร ให้อาหารสัตว์เลี้ยง หรือรดน้ำต้นไม้ เป็นต้นเมื่อเด็กทำตามหน้าที่ของตนเองบ่อยๆเขาก็จะเกิด ความคุ้นเคย และเข้าใจว่าเขาต้องทำหน้าที่เป็นส่วนหนึ่งของครอบครัว และต้องมีความรับผิดชอบในหน้าที่ของตนเอง
3. ไม่ตำหนิแต่ตักเตือน
ในเวลาที่เด็กเพลิดเพลินกับสิ่งที่เขาชอบจนละเลยหน้าที่ของตน คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรดุหรือตำหนิ เช่น บ่นว่าลูกขี้เกียจ ไม่รู้จักช่วยเหลือพ่อแม่ แต่ให้เตือนเขาว่าเขาควรทำ หน้าที่ของเขาแล้วนอกจากนี้ลูกอาจจะยังทำอะไรได้ ไม่ถูกใจคุณพ่อคุณแม่นักเพราะ ยังมีทักษะไม่เพียงพอ เช่น อาจจะยังกวาดบ้านไม่สะอาด รีดผ้าไม่เรียบ คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรดุหรือบ่นว่า แต่ให้ช่วยสอนวิธีที่ถูกต้องกับลูกอย่างใจเย็น หรืออาจชวนลูกทำด้วยกันเพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้ลูกค่ะ
4. ยืดหยุ่นบ้างในบางโอกาส
คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรเข้มงวดกับลูกมากจนเกินไป เช่นในบางครั้งที่ลูกกำลังเพลิดเพลินกับกิจกรรมบางอย่าง แล้วคุณพ่อคุณแม่เข้าไปสั่งให้เขาลุกขึ้นมาทำงานอาจจะทำให้ลูกรู้สึกหงุดหงิด และต่อต้านการทำหน้าที่ของเขาจนกลายเป็นปัญหาได้ คุณพ่อคุณแม่อาจจะยืดหยุ่นสักนิดเช่นอนุญาตให้เขาทำสิ่งที่เขาชอบให้เสร็จก่อนเป็นต้นอย่างไรก็ตามอย่าเข้าไปทำหน้าที่แทนลูกแม้ว่าจะทำให้คุณหงุดหงิดบ้างก็ตาม
5. เช็คดูว่าลูกเหนื่อยเกินไปหรือเปล่า
เด็กในยุคนี้มีภารกิจต้องทำมากมายทั้งการเรียน และกิจกรรมต่าง ๆ บางทีคุณพ่อคุณแม่อาจมองข้ามจุดนี้ไป ลืมคิดว่าลูกอาจจะเหนื่อยและต้องการเวลาพักผ่อน ทำอะไรที่เขาชอบบ้าง ดังนั้น ก่อนจะตัดสินว่าลูกเป็นลูกขี้เกียจหรือไม่ คุณพ่อคุณแม่อาจจะต้องเช็คดูก่อนว่าลูกเหนื่อยเกินไปหรือเปล่า และมีเวลาผ่อนคลายบ้างหรือไม่
6. อย่าเปรียบเทียบลูกกับคนอื่น
ไม่มีใครอยากถูกเปรียบเทียบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเปรียบเทียบว่าคนอื่นดีกว่า เก่งกว่า น่ารักกว่า การที่คุณพ่อคุณแม่เปรียบเทียบลูกกับคนอื่นจะทำให้ลูกรู้สึกด้อย และต่อต้านจนทำให้เขาไม่มีแรงหรือพลังใจที่จะลุกขึ้นมาทำสิ่งดี ๆ ดังนั้นพยายามอย่าเปรียบเทียบลูกกับคนอื่นนะคะ
7. ชื่นชมเมื่อลูกทำได้ดี
คำชมเป็นแรงผลักดันที่ดีสำหรับลูกเมื่อเขาทำอะไรได้ดี และได้รับคำชมจากคุณพ่อคุณแม่ ลูกจะรู้สึกอยากทำสิ่งนั้น ต่อไป ในทางตรงกันข้าม ถ้าเขาทำแล้วถูกตำหนิ เขาก็จะหมดความมั่นใจ หรือไม่อยากทำสิ่งนั้น ๆ อีกจนอาจกลายเป็นปัญหานิสัยขี้เกียจไปในที่สุด
การที่เด็กคนหนึ่งจะลุกขึ้นมาเป็นคนขยันทำอะไรสักอย่างได้ เด็กอาจจะต้องมีแรงบันดาลใจและตัวอย่างที่ดีจากคุณพ่อคุณแม่ด้วยนะคะ ดังนั้น ถ้าหากอยากให้ลูกเป็นเด็กขยัน นอกจาก 7 ข้อข้างต้นที่เรานำมาฝากแล้ว คุณพ่อคุณแม่อาจจะต้องขยันให้ลูกเห็นเพื่อให้ลูกมีต้นแบบที่ดี และทำตามด้วยเช่นกันค่ะ
ที่มา : จุลสารเพื่อนอนุบาล ฉบับที่ 1 ปี 2563 (หน้า 7-9)
ฝ่ายการศึกษา อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ
www.edbathai.com